catch-and-release
“Limit your kill; don’t kill your limit.”
สังคมของการอนุรักษ์มาพร้อมกับสำนึกรักษ์ในการขอบคุณธรรมชาติ
Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) หรือ การตกปลาเชิงอนุรักษ์ คือ แนวทางการปฏิบัติในการจับปลาด้วยอุปกรณ์ตกปลา และปล่อยไปขณะยังมีชีวิต เป็นแนวทางที่มีรากฐานมาจากจริยธรรม และวัฒนธรรมของการตกปลาที่ถูกยึดถือปฏิบัติโดยสมัครใจมาเป็นเวลายาวนานในหมู่นักตกปลาบางส่วน ที่มีความเชื่อว่า
สปิริตของการทำ catch-and-release (แคช แอนด์ รีลิส) จะมีความหมายเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อ การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ยึดถือ และปฏิบัติโดยสมัครใจเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการ catch-and-release (แคช แอนด์ รีลิส) ต่อปลาที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นปลาที่หาพบได้ยาก ใกล้สูญพันธุ์
ปัจจุบันประเทศไทยมีปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 14 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่
1 ตะพัดหรืออโรวาน่า Scleropages formosus
2 ติดหินหรือค้างคาว Oreoglantis siamensis
3 เสือตอหรือเสือหรือลาด Datnioides microlepis
4 หมูอารีย์ Botia sidthimunkii
5 จาดถ้ำ Poropuntius speleops
6 ฉลามวาฬ Rhincodon typus
7 พลวงถ้ำ Neolissochilus subterraneus
8 ผีเสื้อถ้ำ Cryptotora thamicola
9 ค้อถ้ำ Nemacheilus troglocataractus
10 ค้อตาบอด Schistura oedipus
11 ค้อจารุธานินธร์ Schistura jaruthanini
12 ค้อถ้ำพระวังแดง Schistura spiesi
13 ค้อถ้ำพระไทรงาม Schistura deansmarti
14 ชะโอนถ้ำ Pterocryptis buccata
แนวคิดเรื่องการ Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) ของแต่ละประเทศ และของนักตกปลาแต่ละคนเองก็จะมีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน เพราะปัจจัยการดำรงชีวิตแตกต่างกัน สำหรับนักตกปลากลุ่ม FLY FISHING (การตกปลาแบบฟลาย ฟิชชิ่ง) ในยุโรป หรืออเมริกา ก็จะปฏิเสธการทานปลาที่ตกได้ทั้งหมด ตกได้เท่าไรก็จะเน้นไปที่การปล่อยไป โดยเก็บเพียงภาพถ่ายเป็นที่ระลึกเท่านั้น แต่นักตกปลาในประเทศไทยมีความเป็นลูกผสมสูง คือ การตกปลาเป็นการหาเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักตกปลาชาวไทยที่ตกปลาได้นั้น จะเน้นตกให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคภายในครัวเรือน และปล่อยในส่วนที่เกินกว่าความต้องการ หรือหากพบว่าเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็จะปล่อยให้พ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์กลับไปยังแหล่งธรรมชาติ หรือหากเป็นปลาที่หายาก หรือเล็กเกินไปก็ปล่อยเช่นกันให้ปลาเหล่านั้นได้มีโอกาสเติบโต และสืบพันธุ์ต่อไป
อิทธิพลแนวคิดที่ก่อให้เกิดแนวคิด Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส)
แนวคิดหลักๆ อาจจำแนกได้จากนักตกปลา 3 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มนักตกปลาที่มากประสบการณ์ที่ตกปลาได้ตามจำนวนหรือได้ชนิดที่ต้องการแล้วไม่ต้องการเพิ่มจำนวนปลาที่สะสมอีก
2. กลุ่มนักตกปลาที่สนุกกับการตกปลาแบบเกมกีฬา และไม่ต้องการเก็บปลาไว้
3.กลุ่มนักตกปลาที่ตระหนักว่าการนำปลาบางขนาดและบางชนิดที่กำหนดจากบริเวณที่ตกได้มาเก็บไว้อาจมีผลกระทบที่เลวร้ายต่อประชากรปลาท้องถิ่นเหล่านั้นในอนาคต
ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการ Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) ให้กลายมาเป็นข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศแล้วเช่นกัน และค่อยๆขยายคุ้มครองต่อปลาใกล้สูญพันธ์ทั่วโลก ดังนั้นแนวคิดเรื่องการ Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) จึงได้กลายเป็นทั้งเรื่องจริยธรรม และนโยบายของรัฐบาลตามแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน เพราะการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่ใช้เวลานานในการทำให้คนจำนวนมากยอมรับได้ และจัดเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันในวงกว้างโดยนักตกปลา และกรมประมงในทุกประเทศมาตลอด
ในช่วงหนึ่ง นักตกปลารวมทั้งคนทั่วไป เชื่อว่าการตกปลา เพื่อการสันทนาการไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อระดับประชากรของปลาทั้งในน้ำจืด และในทะเล แต่ความเชื่อนี้ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เพราะนักตกปลาที่มีความชำนาญจำนวนหนึ่งสามารถที่จะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อสมดุลประชากรปลาจากการตกปลาที่เชี่ยวชาญได้เป็นอย่างมาก เพราะจำนวนที่คนกลุ่มนี้ตกได้ มีมากเพียงพอเกือบเท่ากับชาวประมงที่ออกเรือเล็กในการหว่านแหดักปลาในแต่ละวัน หรือนักตกปลาผู้ชำนาญที่ออกเรือตกปลาในช่วงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ของปลาแต่ละชนิด เช่น ปลาชะโดยักษ์ (GIANT SNAKEHEAD) ที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ไปในปัจจุบันเพราะไม่มีโอกาสได้วางไข่ หรือไข่ถูกสัตว์น้ำอื่นกินไปเนื่องจากพ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์ที่เฝ้านั้นโดนจับไปแล้วโดย นักตกปลา หรือกลุ่มที่ออกล่าปลาเพื่อทำกำไร
ดังนั้นภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา นักตกปลาต้องปล่อยปลาที่ตกได้นอกฤดูกาลที่กำหนด หรือปลาที่ขนาดเล็กหรือใหญ่กว่ากำหนด หรือปลาที่มีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดให้จับได้สำหรับสายพันธุ์นั้นๆทั้งหมด แต่ในประเทศไทยจะบังคับใช้เฉพาะสัตว์สงวน และใกล้สูญพันธุ์ และบางสายพันธุ์มีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงได้แต่ต้องอยู่ภายใต้ที่กฏหมายกำหนด ไม่สามารถจับ นำเข้า หรือจำหน่ายได้อย่างเสรี
ความเห็นจากกลุ่ม catch-and-release-fly-fishing-thailand กล่าวว่า
สำหรับคนที่ไม่ใช่นักตกปลาแล้ว การปล่อยปลาไปดูจะเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล เมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ความไม่แน่นอนว่าจะตกได้หรือไม่ และการปฏิเสธแหล่งอาหารที่สดและมีคุณค่าต่อร่างกาย ในมุมมองของการบริโภคแล้ว การปล่อยปลาที่จับมาได้ดูจะเป็นเรื่องขัดแย้งกับการแนวทางการหาเลี้ยงชีพของมนุษยชาติ เพราะเกือบทุกที่ในโลกนี้ปลาที่ถูกจับขึ้นมาได้ล้วนแล้วแต่ถูกเก็บไว้เพื่อบริโภคกันทั้งนั้น
นักตกปลาที่ปล่อยปลาไปโดยสมัครใจนั้น ยังคงทำเช่นนี้ต่อไปด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน บางคนก็ไม่ชอบที่จะกินปลา และไม่เคยแม้ กระทั้งคิดที่จะเก็บปลาเอาไว้ บางท่านชอบกินปลาแต่ก็ปล่อยไปเพราะคำแนะนำทางด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม นักตกปลาส่วนใหญ่สมัครใจที่จะปล่อยปลาไปด้วยอุดมการณ์ส่วนบุคคล และเพราะเขาอยากที่จะได้เห็นปลาที่เคยตกได้นั้นยังคงมีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ของมันสืบไป ภายใต้ความคาดหวังว่าหากมีนักตกปลาจำนวนมากพอที่ปฏิบัติเช่นนี้ สิ่งที่กระทำลงไป ย่อมต้องเห็นผลเป็นแน่ในวันพรุ่งนี้ของทุกๆวัน
ในกรณีที่นักตกปลาอยากเก็บปลาไว้เป็นที่ระลึก ก็สามารถถ่ายภาพเก็บไว้ได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการจำลองปลาที่สามารถสร้างแม่แบบได้จากไฟเบอร์กลาส ก่อนขึ้นรูปงานจริงได้ ซึ่งทำได้ดีไม่ต่างกับการนำปลามาสต๊าฟเพื่อขึ้นงานจริงในการเก็บรักษาประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตได้จากความรู้สึกพิเศษในการปล่อยปลาขนาดที่หาได้ยากหลังจากจับได้แล้วไปยังแหล่งน้ำที่มันอาศัยอยู่เดิม และนักตกปลาเองก็ยังคงมีที่ปลาประดับไว้ให้รำลึกถึงได้เช่นกัน
บุคคลที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการตกปลาเชิงอนุรักษ์ในประเทศไทย
“ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” นักตกปลารุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตท่องเที่ยวเก็บประสบการณ์ไปทั่วโลก และถ่ายทอดผ่านรายการสารคดีด้วยความรักในธรรมชาติ และความมุ่งมั่นในการรักษาธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท มาฮ์เซียร์ แท็คเกิ้ล ที่นำเข้าอุปกรณ์ตกปลา เรือคายัค ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบกิจกรรมเอาต์ดอร์เจ้าหนึ่งในประเทศไทย นอกเหนือจาก บริษัท ริกเกอร์ จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่ง ทัพพ์ ได้นิยาม และอธิบายเกี่ยวกับแนวคิด Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) ไว้ดังนี้
การตกปลาเชิงอนุรักษ์คือกิจกรรมตกปลาที่ส่งเสริมการตกปลาแล้วปล่อย (Catch and Release) เพื่อสร้างกระแสการอนุรักษ์ปลาและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ปลาท้องถิ่นที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีโอกาสขยายพันธุ์และเติมเต็มระบบนิเวศต่อไป คือต้องแยกก่อนว่า ถ้าผมไปพูดให้ใครฟัง พูดเป็นกลางๆ ก็จะบอกว่าการตกปลาคือกีฬา แต่ถ้าผมมาพูดในเมืองพุทธหรือให้คนไทยฟัง เขาจะไม่มองว่าเป็นกีฬา แม้ว่าการตกปลาจะมีการตราไว้ในพระราชบัญญัติถูกต้องตามกฎหมายไทยแล้วว่าคือกีฬา แต่คนจะไม่ยอมรับกัน เพราะเอาความรู้สึกกับวัฒนธรรมเข้ามาเบียด
ผมคิดว่าเราต้องเป็นกลางก่อนและมองเหตุผลกับความจริงว่าทุกวันนี้ เราทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์เป็นอาหารกันอยู่ กีฬาคือกิจกรรม เป็นสันทนาการ แต่ถ้ามองการตกปลาเป็นเชิงอนุรักษ์ มันเป็น กิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ กีฬาตกปลายังสามารถเพิ่มความรู้เกี่ยวกับปลาและทักษะในการตกปลาแล้วปล่อย เพราะผู้ตกจะมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น
สำหรับบ้านเรา ผมคิดว่าความรู้ขาดไปเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความเชื่อ และความแตกตื่น สื่อส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะขายอะไรที่ง่ายและเร็ว ขายความเชื่อ ขายความเป็นอยู่จริงๆ กับคนหมู่มาก อย่างปลากระเบนที่จับได้ที่นครพนมล่าสุด จะพาดหัวข่าวและเขียนเหมือนกันเลยว่า “สามปี สามตัว” ชาวบ้านฮือฮา แตกตื่นกระเบนยักษ์ แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ จับปลากระเบนได้ตัวขนาดใหญ่เอามาขายได้กิโลละพันกว่าบาท นำมาเลี้ยงชาวบ้านได้ แกงอ่อมสุดยอด อะไรแบบนั้นไป ถามว่าถ้าอุดมสมบูรณ์ ทำไมมีปีละกี่ตัวล่ะ และมันเข้ามาอยู่ตรงได้อย่างไร ไหนข้อมูลครับ ทุกวันนี้ที่ผมพูดอะไรไม่ได้ เพราะว่าไม่มีงานวิจัยเข้าเกี่ยวข้อง และถามว่าเงินวิจัยไปอยู่ตรงไหนหมด ไปอยู่กับปลาทับทิมและปลาเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อคนหมู่มากจะได้ไม่ว่าองค์กรที่รับผิดชอบ เพราะว่าเขาต้องทำเพื่อปากเพื่อท้องของคนหมู่มาก
แต่กับปลานิลนะ ผมคิดว่ามันเป็นสุดยอดของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะอยู่หลายที่ในประเทศเขตร้อน คือคนเอามันไปปล่อยเพื่อบริโภคและมันก็สามารถปรับตัวให้อยู่ทุกที่ได้ มันสุดยอดมากๆ แต่มันเป็น Invasive Species ที่ทำลายระบบนิเวศและปลาท้องถิ่น ผมเดินทางไปหลายประเทศในเขตร้อน แม้แต่ในอเมริกากลาง ผมก็ยังเจอปลานิลในแหล่งน้ำลึก หรือเจอในหุบเขาของประเทศเบลีซ (Belize) มันสุดยอดมาก แต่มันน่าเศร้ามากครับ คุณอยากให้ลูกหลานในอีกสิบปีได้เติบโตมาแล้วได้เห็นสิ่งที่ควรจะได้เห็นไหม ทั้งธรรมชาติ แหล่งน้ำ และปลาท้องถิ่น
ผมตกปลาเชิงอนุรักษ์ คนก็ไม่ได้จะชอบผมกันนะครับ เพราะวัฒนธรรมความเชื่อ ความหมั่นไส้ แต่ผมไม่หยุดหรอกครับ ผมจะทำแบบนี้ต่อไป แม้จะดูเหมือนว่าผมเอาหัวชนกำแพง แต่ผมก็จะทำต่อไป
มุมมืดของแนวคิด Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส)
โชคไม่ดีที่ catch-and-release ได้ถูกนำไปเชิดชูโดยนักตกปลาบางกลุ่ม หรือบางคน ว่าเป็นทางสายขาวที่สว่าง สดใส สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก หรือแนวคิดการฟื้นฟูธรรมชาติด้วยสองมือของนักอนุรักษ์ เพราะความคิดดังกล่าวไม่ได้เหมาะสม หรือเกิดขึ้นจริงสำหรับปลาทุกชนิด และสำหรับทุกสถานการณ์
การเก็บปลาไว้ หรือการปล่อยปลาไป ควรเป็นเรื่องของการเลือก และตัดสินใจปฏิบัติของตัวนักตกปลาแต่ละบุคคลเองในบางสถานการณ์การเก็บปลาก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ไม่ใช่ความผิด เช่น กรณีที่ปลาบาดเจ็บมาก หรือจำเป็นต้องนำมาทำอาหารเปรียบได้กับทำงาน หรือการหาเลี้ยงชีพในสังคมปัจจุบันเช่นกัน
ตราบเท่าที่ยังมีการเรียนรู้ถึงสิ่งที่มีผลกระทบต่อการรอดชีวิตของปลาหลายๆชนิด รวมถึงปลาหายากชนิดต่างๆ การ Catch-and-Release (แคช แอนด์ รีลิส) ถือเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางกฎหมาย จริยธรรม การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ถือว่าดี และนุ่มนวลที่สุดในการรณรงค์การปล่อยปลาที่ไม่ต้องการบริโภคทั้งที่สามารถเก็บไว้ได้ตามกฎหมาย และยังถือเป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนการตกปลาเข้ามาเป็นกีฬาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดตามแนวความคิดของผู้เขียน
ผู้เขียน : Pitchayapatsorn Srisawat